ตร.กองร้อยควบคุมฝูงชน หน่วยเก็บกู้ตรวจสอบวัตถุระเบิด สาธิตพร้อมชี้แจงข้อเท็จจริง การปฏิบัติหน้าที่ ณ สนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง

ตร.กองร้อยควบคุมฝูงชน หน่วยเก็บกู้ตรวจสอบวัตถุระเบิด สาธิตพร้อมชี้แจงข้อเท็จจริง การปฏิบัติหน้าที่ ณ สนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง
1512338_349575075182407_377429471_n1184829_349575108515737_1185127381_n
1521220_349575095182405_1528780010_n1601561_349575155182399_481078951_n

วันที่ 7 มกราคม 2557 พ.ต.อ.ณัฐพล โกมมินทรชาติ ผู้กำกับการควบคุมฝูงชน 1 กองบังคับการ กองร้อยควบคุมฝูงชน พ.ต.ท.ศรายุทธ อรุณฉาย สารวัตรงานแผนและการฝึก กองกำกับการควบคุมฝูงชน 1 กองบังคับการกองร้อยควบคุมฝูงชน พร้อมด้วย พ.ต.อ.กำธร อุ้ยเจริญ ผู้กำกับการกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจสอบวัตถุระเบิด ร่วมกันสาธิตอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนที่ใช้ควบคุมสถานการณ์การชุมนุม เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามบุกรุกเข้ามาภายในเพื่อขัดขวางการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

พ.ต.ท.ศรายุทธ อรุณฉาย สารวัตรงานแผนและการฝึก กองกำกับการควบคุมฝูงชน 1 กองบังคับการกองร้อยควบคุมฝูงชน ชี้แจงว่า กองกำกับการควบคุมฝูงชน 1 ได้นำกำลังเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 1 กองร้อย ซึ่งมีเพียงอุปกรณ์ป้องกันตัว โดยจะมีพลยิงแก๊สน้ำตา และพลยิงกระสุนยาง ชุดละ 1 นายเท่านั้น พร้อมยืนยันว่า การชี้แจงในวันนี้ (7 มกราคม) เพื่อให้สื่อมวลชนและประชาชน ได้รับทราบข้อเท็จจริง ซึ่งการใช้กระสุนยาง เพื่อเตือนและเว้นระยะห่างกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยไม่มีการเล็งใส่ตัวบุคคลเด็ดขาด และเน้นยิงในที่โล่งแจ้งเท่านั้น ส่วนการใช้แก๊สน้ำตาแบบน้ำ ใช้เพื่อแยกผู้ชุมนุมกับผู้ไม่เกี่ยวขัอง ซึ่งสีที่ผสมน้ำ ก็เป็นสีผสมอาหาร ไม่มีอันตราย

สำหรับแก๊สน้ำตาที่เจ้าหน้าที่ใช้ จะมี 2 แบบ คือ แบบยิง สามารถยิงได้ในระยะ 50-150 เมตร ส่วนแบบขว้าง แบ่งเป็นชนิดผงแป้ง และควัน ซึ่งสามารถขว้างได้ไกลที่สุดไม่เกิน 25 เมตร ขณะที่ อาวุธปืนที่ใช้ยิงแก๊สน้ำตานั้น มีขนาด 38 มม. ลำกล้องไม่มีเกลียว ไม่สามารถใส่ลูกกระสุนปืน เอ็ม 79 ได้ เนื่องจากกระสุนเอ็ม 79 มีขนาด 40 มม.

พ.ต.ท.ศรายุทธ กล่าวว่า กรณีชายชุดดำบนดาดฟ้า อาคารกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นตำรวจในสังกัดกองกำกับการควบคุมฝูงชน 1 จำนวน 10 นาย ขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ ได้รับคำสั่งให้ถอดสัญลักษณ์ (อาร์ม) ออก จึงทำให้มีลักษณะคล้ายชายชุดดำ

ทางด้าน พ.ต.อ.กำธร อุ้ยเจริญ ผู้กำกับการกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจสอบวัตถุระเบิด เปิดเผยว่า ภายหลังสถานการณ์ความวุ่นวายที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ยุติลง เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด และกองพิสูจน์หลักฐาน ได้เข้าตรวจสอบบริเวณโดยรอบ พบของกลาง ประทัดยักษ์ หนังสติ๊ก ระเบิดปิงปอง ที่มีการดัดแปลง นำตะปู หัวน็อตติดโดยรอบ ซึ่งหากโดนจุดสำคัญก็จะทำให้เสียชีวิตได้

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้มีการสาธิตการยิงกระสุนยาง แก๊สน้ำตา เปรียบเทียบกับเสียงของระเบิดปิงปอง ประทัดยักษ์ ซึ่งการสาธิตการใช้ปืนลูกซองยิงกระสุนยาง พบว่า เสียงของการยิงกระสุนยาง จะเบากว่าการยิงกระสุนจริง ส่วนเสียงการยิงแก๊สน้ำตา ก็จะเบากว่า ประทัดยักษ์ซึ่งมีเสียงดังและทุ้มกว่า
FM91